ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์และข่าวแจ้งสื่อมวลชน

โควิดกดดันตลาดหุ้นไทย แนะเลือกลงทุนหุ้นกลุ่ม Defensive ปรับลดกลุ่ม Reopening


ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตสูงขึ้น กดดันให้มีการไหลออกของ Fund Flow โดยตั้งแต่ 1-20 กรกฎาคม นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ด้านการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก เผชิญปัจจัยลบเดียวกันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย รวมถึงราคาน้ำมันปรับตัวลง และตลาดเกิดภาวะ Risk Off (ปิดรับความเสี่ยง) โดยเม็ดเงินย้ายออกจากสินทรัพย์เสี่ยงเข้าสู่ดอลลาร์สหรัฐ ตลาดพันธบัตร และทองคำ ทำให้แนวโน้มดัชนีหุ้นไทย (SET) มองว่ายังจะเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway Down และยากที่จะผ่านกลับไปยืนเหนือ 1,600 จุด และมีแนวโน้มปรับลงไปหาบริเวณ 1,500-1,520 จุด หลังสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด โดยประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในพื้นที่สีแดงเข้ม เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคม สำหรับ 10 จังหวัด (กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา) และวันที่ 20 กรกฎาคม สำหรับอีก 3 จังหวัด (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อยุธยา) โดยมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 2 สิงหาคม

นอกจากนี้คำสั่งเคอร์ฟิวช่วงกลางคืนมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. การเดินทางระหว่างจังหวัดหรือภายในจังหวัดทั้งหมดทำได้เฉพาะการเคลื่อนย้ายที่จำเป็น ปิดร้านค้าในศูนย์การค้า ยกเว้นร้านขายอาหารและสินค้าจำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา ธนาคาร ร้านจำหน่ายเครื่องมือช่างและอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยร้านค้าเหล่านี้สามารถเปิดได้จนถึง 20.00 น.

ส่วนร้านสะดวกซื้อถูกสั่งให้ปิดตั้งแต่ 20.00-04.00 น. สร้างผลกระทบต่อกลุ่ม Reopening และจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังทำนิวไฮต่อ ทำให้มีโอกาสสูงต่อการขยายเวลาของมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ต้องมีการลดน้ำหนักในกลุ่มนี้ก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยมาตรการที่เข้มงวดขึ้นจะกระทบต่อการดำเนินงาน ดังนี้

กลุ่มค้าปลีก โดยมาตรการล็อกดาวน์เฟส 3 กระทบลบต่อการเปิดดำเนินงานของร้านสะดวกซื้อ (CPALL) มากกว่าเฟส 1 รองมาคือ ศูนย์การค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต (CRC, CPN, BJC) ใกล้เคียงเฟส 1 ส่วน Home Improvement (HMPRO, DOHOME, GLOBAL) น้อยกว่าเฟส 1 แต่หากเรียงตามผลกระทบที่มีต่อยอดขายจากมากไปน้อยจะเป็นศูนย์การค้า (CRC, CPN, BJC) ร้านสะดวกซื้อ (CPALL) และ Home Improvement (HMPRO, DOHOME, GLOBAL)

กลุ่มขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร ได้แก่ BTS, BEM, ERW, MINT, CENTEL, ZEN คาดได้รับผลกระทบกรณีเลวร้ายสุดใกล้เคียงเฟส 1 จากการชะลอการเดินทางภายในประเทศ ซึ่งมีผลทำให้จำนวนการใช้บริการ (Traffic) ชะลอตัวลง

ด้านกลยุทธ์การลงทุน ยังเน้นในลักษณะ Selective Buy และเลือกหุ้นในกลุ่มปลอดภัยที่เป็นกลุ่ม Defensive หรือที่มีแนวโน้มกำไรเติบโตดี เพื่อรับมือความเสี่ยงที่ยังสูงขึ้น โดยมีหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่

BDMS ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากบริการที่เกี่ยวกับโควิด รวมถึงยังได้อานิสงส์จากกระจายวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงพยาบาลในแหล่งท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็น 14% ของรายได้ ขณะที่ฐานผู้ป่วยกลุ่มประกันสุขภาพภาคเอกชนยังมีศักยภาพในการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง

GPSC กำไรไตรมาส 2 ปี 2564 จะปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) จากการหยุดซ่อมบำรุงลดลง ต้นทุนก๊าซลดลง และการดำเนินงานเต็มไตรมาสของโรงไฟฟ้า GE เฟส 5 ขณะที่การระบาดของโควิดรอบนี้กระทบต่ออุปสงค์จากภาคอุตสาหกรรมน้อยกว่าปีก่อน

RJH แนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 2564 เติบโต QoQ จากจำนวนผู้เข้าใช้บริการตรวจโควิดที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงในไตรมาส 4 ปี 2564 ยังได้อานิสงส์จากการให้บริการวัคซีนโควิดทางเลือก

WICE คาดกำไรไตรมาส 2 ถึงสิ้นปีนี้ ยังเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) จากอุปสงค์ขนส่งสินค้าที่เติบโตดีทุกช่องทาง และยังได้ปัจจัยหนุนจากค่าระวางทั้งเรือและอากาศที่สูงขึ้น บวกกับธุรกิจ CBS จะได้รับมอบตู้คอนเทนเนอร์ที่เหลืออีก 50% ใน 2Q64

PM แม้แนวโน้มกำไรไตรมาส 2 ปี 2564 หดตัว QoQ แต่ยังเติบโต YoY จากบริษัทและคู่ค้ามีแผนออกสินค้าใหม่ รวมถึงมีแผนขยายตัวแทนและศูนย์กระจายสินค้า พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์เพื่อคุมต้นทุนการกระจายสินค้า

ที่มา : www.thestandard.co