ข่าวจากสื่อสิ่งพิมพ์และข่าวแจ้งสื่อมวลชน
หุ้นค้าปลีกซบหนัก 'คนละครึ่ง-ช็อปช่วยชาติ' ปลุกไม่ขึ้น
เอฟเฟ็กต์ 'ล็อกดาวน์' ฉุดหุ้นค้าปลีกซบหนัก โบรกฯชี้มาตรการ 'คนละครึ่ง-ช็อปช่วยชาติ' ปลุกไม่ขึ้น เหตุยอดใช้จ่ายต่อคนต่ำดันยอดขายห้างยักษ์ใหญ่ไม่ขึ้น ขณะที่ 'CPALL' เจอกระแสต้านหนัก ด้าน 'MAKRO' ได้อานิสงส์ราคา 'หมู-ไก่' แพงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) พบว่า ราคาหุ้นในกลุ่มค้าปลีกส่วนใหญ่ยังปรับลดลงต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปัจจัยที่ภาครัฐเตรียมออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทั้งมาตรการ 'คนละครึ่ง'และ 'ช็อปช่วยชาติ' โดยตั้งแต่ต้นปีถึง ณ 10 ก.ย. 63 ดัชนีหุ้นกลุ่มค้าปลีก ปรับลดลง 8.63% โดยเฉพาะราคาหุ้น บมจ.เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ปรับลดลงมากที่สุดที่ 33.33%
นายสุวัฒน์ วัฒนพรพรหม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี 2563 คาดว่ายอดขายและกำไรสุทธิกลุ่มค้าปลีกจะปรับตัวดีขึ้น จากช่วงที่มีการล็อกดาวน์ปิดเมืองในไตรมาส 2/63 อย่างไรก็ตาม บริษัทค้าปลีกในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ชี้ว่า ยอดขายสาขาเดิม (SSSG) จะยังคงติดลบ แต่น้อยกว่าในไตรมาส 2/63 ยกเว้น บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) ที่ได้อานิสงส์จากการที่ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ปรับขึ้น รวมถึงบริษัทหันไปจับกลุ่มลูกค้าที่เป็น end consumer (ซื้อและนำไปใช้เอง) มากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) และ บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) คาดจะเห็นการฟื้นตัว อย่างไรก็ดี คาดการณ์กำไรสุทธิจะยังติดลบเมื่อเทียบปีก่อน แต่จะติดลบลดลงจากไตรมาส 2/63 ที่ติดลบราว 20% มาอยู่ที่ราว 10% ส่วนกลุ่มค้าปลีกที่เกี่ยวเนื่องกับการซ่อมแซมบ้านได้รับอานิสงส์จากกระแสทำงานที่บ้าน (work from home) ที่ช่วงคลายล็อกดาวน์ใหม่ ๆ คนนิยมซื้อของเพื่อซ่อมแซมบ้าน ส่งผลให้ยอด SSSG ปรับขึ้นอย่างมากในเดือน พ.ค.และเดือน มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.เริ่มแผ่วลง ด้านค้าปลีกที่เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (IT) ยังเติบโตต่อเนื่อง คือ บมจ.คอมเซเว่น (COM7) และ บมจ.เอส พี วี ไอ (SPVI)
เมื่อมองไปข้างหน้าในปี 2564 นายสุวัฒน์กล่าวว่า หากพิจารณาภาพรวมของยอดขายและกำไรสุทธิของกลุ่มค้าปลีก เชื่อว่าจะปรับขึ้นจากฐานกำไรที่ต่ำในปี 2563 อย่างไรก็ดี จะต้องพิจารณาประเด็นเฉพาะตัวของแต่ละกลุ่ม เช่น กลุ่ม IT ที่ฐานสูงเมื่อเทียบกับห้างค้าปลีกประเภทอื่น ๆ ซึ่งในระยะถัดไปคาดหวังประเด็นการใช้เทคโนโลยี 5G เข้ามาหนุนห้างค้าปลีกประเภทนี้ต่อไป
ขณะที่กลุ่มการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน การเติบโตของยอดขายและกำไรเริ่มจำกัด โดยหุ้นที่ยังสามารถเติบโตได้ คาดว่าจะเป็นบริษัทที่ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูง และยังสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดต่อได้ผ่านการขยายสาขา คือ บมจ.ดูโฮม (DOHOME) ส่วน บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO) ซึ่งเป็นเจ้าใหญ่การเติบโตเริ่มจำกัด
ส่วนกลุ่มอุปโภคอย่าง CPALL และ BJC คาดว่าจะผันแปรตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดการณ์การบริโภคโดยรวมจะมีแนวโน้มดีขึ้น และคาดว่าการบริโภคที่มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หายไปราว 9 เดือนในปี 2563 นี้จะมีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน
นายสุวัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการ 'คนละครึ่ง' ที่เบื้องต้นมีข่าวจะจำกัดการใช้จ่ายที่ 100-250 บาท/คน/วัน เชื่อว่าจะไม่ส่งผลประโยชน์ต่อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ อาทิ CRC,HMPRO และ COM7 รวมถึง CPALL ที่มีกระแสข่าวต่อต้านการออกมาตรการที่เอื้อนายทุน ดังนั้น โดยภาพรวมคาดว่าผู้ประกอบการค้าปลีกในตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่ได้ประโยชน์ หรือเพียงได้ประโยชน์ทางอ้อมจากการที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น
ส่วนมาตรการ 'ช็อปช่วยชาติ' แม้ยังไม่มีรายละเอียด แต่ล่าสุดสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้เสนอภาครัฐให้พิจารณา ซึ่งหากดำเนินการได้ก็เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ รวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีก IT อย่างไรก็ดี CPALL อาจได้ประโยชน์ไม่มากเมื่อเทียบกับห้างค้าปลีกอื่น ๆ
'สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มค้าปลีก แนะนำซื้อหุ้นที่ราคายังปรับขึ้นไม่เท่าราคาหุ้นตัวอื่น ๆ ในกลุ่ม รวมถึงยังมีโอกาสปรับขึ้นสูง ได้แก่ CRC upside ประมาณ 20% และ CPALL upside ประมาณ 30%'
นางสาวสุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในระยะถัดไปแนวโน้มยอดขายและกำไรของกลุ่มค้าปลีกยังค่อนข้างแย่ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาส 2 ที่ทำให้รายได้หายไป แม้ไตรมาส 3-4 จะมีโอกาสกลับมาฟื้นตัว แต่เชื่อว่าการจะฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ยังต้องใช้เวลา
ที่มา : prachachat.net